วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประวัติ ‘ราช เลอสรวง’

นักสืบเสาะ : คุยกับ ‘ราช เลอสรวง’ นักเขียนการ์ตูนชั้นครู ตามไปดูผลงานหายาก

all Magazine :  ปีที่ 8  ฉบับที่  2  เดือน มิถุนายน 2556
ตำนานมายา : หนึ่งเดียว


คุยกับ ‘ราช เลอสรวง’ นักเขียนการ์ตูนชั้นครู ตามไปดูผลงานหายาก
คุยกับ ‘ราช เลอสรวง’ นักเขียนการ์ตูนชั้นครู ตามไปดูผลงานหายาก
คุยกับ ‘ราช เลอสรวง’ นักเขียนการ์ตูนชั้นครู ตามไปดูผลงานหายาก
          ‘ศิลปินพันปก’ เป็นฉายาของนักเขียนภาพประกอบ นักวาดการ์ตูนและนิยายภาพชื่อดัง ‘ราช เลอสรวง’ หรือ
‘นิวัฒน์ ธาราพรรค์’ ชายผู้หลงใหลการวาดรูปตั้งแต่เด็ก แต่มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ไม่ได้แตะพู่กันยาวนานถึง 30 ปี และเพิ่งกลับมาวาดรูปอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
          ราช เลอสรวง เกิดที่จังหวัดลำพูนเมื่อปี 2483 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน เขาเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว และได้เข้ามาเรียนเพาะช่างรุ่นเดียวกับนักวาดนิยายภาพชื่อดัง จุก เบี้ยวสกุล (จุลศักดิ์ อมรเวช) ซึ่งในขณะเรียนนั้น ‘ฉลอง ธาราพรรค์’ พี่ชายที่เป็นนักวาดฝีมือ เช่นเรื่อง
 เจ้าชายกาลี มณีโสภา เห็นว่าเขาวาดรูปได้ จึงนำผลงานการ์ตูนเล่มแรกของราชเรื่อง ‘หักเขี้ยวเสือ’ ไปขายที่สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา นับแต่นั้นมา เขาก็รับจ๊อบวาดรูป เรียนไปทำงานไปเพื่อหาเงินจ่ายค่าเทอมและค่าครองชีพ จนต้องขาดเรียนบ่อยครั้ง
          “ตอนนั้นจุก เบี้ยวสกุลเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้ว ตอนเขาเรียนปี 2 เขาเป็นคนเก่งแต่ไม่ค่อยส่งงาน สุดท้ายเขาเรียนไม่จบ เพราะไปเป็นนักเขียนการ์ตูนเลย ผมก็อยากเป็นนักเขียนการ์ตูน แต่ต้องใช้ความมุมานะมากกว่าเพราะจนมาก ต้องอยู่บ้านหลังเล็ก ๆ ในสลัมใกล้เพาะช่าง เวลาไปโรงเรียน เพื่อนใส่เสื้อไนล่อน ผมใส่เสื้อผ้าดิบไปเรียน ที่จริงก็ไม่ค่อยไปเรียนแต่ไปส่งงานทุกวันศุกร์ เพื่อนฝูงก็บริจาคสีให้เพราะผมไม่มีอะไรเลย ชีวิตต้องสู้เพราะไม่มีใคร ไม่เอ่ยปากขอใคร ดิ้นรนเอง ผมไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม จนจริง ๆ จนสาหัสเลยแหละ แล้วก็บอกอาจารย์ตรง ๆ ว่า ผมจน อาทิตย์นึงไปส่งงาน 1 วัน อาจารย์ก็ช่วย เลยเป็นนักเรียนคนเดียวที่ปีนึงไปเรียนแค่ 50 กว่าวัน ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยเห็นประกาศนียบัตรเลยนะ แต่ผมก็ไม่ได้สนใจเรื่องประกาศนียบัตร หลานเข้าไปเรียนบอกเห็นชื่อติดที่ห้องโถงว่า ยังไม่จ่ายค่าเทอม (หัวเราะ)  ขณะเดียวกันก็มีชื่อติดอยู่ว่าสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนด้วย”
          ราชเขียนการ์ตูนให้สำนักพิมพ์มากมาย เช่น ผ่านฟ้าพิทยา บางกอก ผดุงศึกษา โดยเขียนเรื่องและวาดเอง โดยมีรายได้จากการวาดเขียนการ์ตูน 32 หน้า 120 - 200 บาท และได้ขึ้นมาเป็นหน้าละ 32 บาท
          หลังจากเรียนจบ ฉลองแนะนำให้ราชไปทำงานที่ ‘ไทย อเมริกัน ออดิโอ วิชวล เซอร์วิส (Thai - American Audio Visual Service)’ บริษัทที่เขาทำงานอยู่ เพื่อความมั่นคง หลังจากทดสอบความสามารถ ลายเส้นจากปลายพู่กันของราช ไปสะดุดตาเจ้านายต่างชาติ เขาจึงได้ทำงานเป็นคนเขียนภาพประกอบให้ศูนย์โสตทัศน์ของบริษัท และแม้ว่าจะไม่มีความสุขในการทำงานประจำมากนัก แต่ก็ทำได้นาน 2 ปี ก่อนลาออกมาประกอบนักเขียนการ์ตูนอย่างเต็มความสามารถ
          แรงบันดาลใจด้านการทำงานศิลปะของราช เกิดจากการได้ใกล้ชิดพี่ชายตั้งแต่เด็กและเห็นกระบวนการวาดอย่างมืออาชีพ เขาจึงใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนการ์ตูนบ้าง แต่มีความมุ่งมั่นว่าจะต้องสร้างงานที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ตามแบบพี่ ไม่ซ้ำแบบใคร และยังชอบดูผลงานของนักเขียนการ์ตูนต่างประเทศ โดยไปซื้อหนังสือเฉพาะเล่มที่ขายราคาถูกตรงสนามหลวง
          “คนดูหมิ่นเหลือเกินว่าจะไปไม่รอด แต่ผมว่ารอดนะ (หัวเราะ) แล้วก็เขียนการ์ตูนลูกเดียว”          ก่อนจะเป็นนิยายภาพ ราชจะใช้ดินสอร่างภาพ เขียนเรื่อง แล้วลงพู่กัน แต่บางครั้งก็ลงพู่กันก่อนใส่เรื่อง สไตล์ภาพของเขา เป็นภาพวาดพู่กันที่คม เข้ม ลงหมึกดำอย่างประณีตสวยงาม แต่เขาก็ยังบอกว่า ตนว่าไม่เก่ง พยายามเท่าไรก็ยังแพ้จุก เบี้ยวสกุล
          “ขนาดกินเหล้าเมาด้วยกันที่โรงพิมพ์ จุกคว้าพู่กันที่ทิ้งแล้วมาวาด แต่วาดแล้วผมยังสู้ไม่ได้ เลยพยายามหาวิธีต่อสู้ ไม่ใช่เพื่อเอาชนะ แต่เพื่อพัฒนาตัวเอง เราก็เลยสังเกตงานของเขาว่า เขาแต่งเรื่องไม่ค่อยดี มักจะแต่งเรื่องเจ้าชาย ผมก็เลยแต่งเรื่องพวกพระเอกกินเหล้าเมายา มีโสเภณีเข้ามาในฉาก เป็นการดึงผู้อ่านอีกกลุ่มเข้ามาหา”
          แต่แล้ว ‘สิงห์ดำ’ ผลงานนิยายภาพแนวต่อสู้ บู๊แอ๊คชั่น ราคา 1 บาท ที่เขียนให้สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา และได้ฤกษ์ใช้นามปากกา‘ราช เลอสรวง’ เป็นครั้งแรก ก็สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างล้นหลาม ราชเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีผลออกมามากมาย ได้แก่ จอมขมังเวทย์ ตลุยแหลก สิงห์คำรน หักด่านมฤตยู สิงขรผู้ทรงพลัง โซโร ฯลฯ

คุยกับ ‘ราช เลอสรวง’ นักเขียนการ์ตูนชั้นครู ตามไปดูผลงานหายาก

          ต่อมาเขาได้เขียนภาพปกพ็อคเก็ตบุ๊คเรื่อง ‘เพชรพระอุมา’ ให้พนมเทียน สลับกับ ‘สุรินทร์ ปิยานันท์’ นักวาดฝีมือดีอีกคนในขณะนั้น และได้วาดภาพปกอีกครั้งในจักรวาล รายสัปดาห์ ได้แต่ทำได้ไม่กี่เดือนก็ขอถอนตัว
          “ผมเขียนสีโปสเตอร์ไม่เป็น แต่เงินดี ทางโรงพิมพ์ให้ปกละ 800 บาท เยอะนะ ก็เลยทำ ตอนนั้นมีครอบครัวแล้ว เหมือนนรกลงบ้าน เครียดมากเพราะทำไม่ได้อย่างที่คิด เดือนนึงวาด 4 ปก ก็ได้เดือนละ 3,200 บาท ผมมักจะวาดตอนไฟจี้แล้ว ทุกข์มากเหมือนอยู่ในนรก เพราะถ้าทำแล้วไม่ดี ไม่ต้องมีใครมาบอก ตัวเราจะบอกเองว่ามันไม่ดี เราไม่ได้ภาคภูมิใจ แต่กลุ้มใจ วิตกกังวล ผมทำอยู่พักนึงก็ขอเลิก เพราะมันไม่ใช่แนวที่ถนัด ทำแล้วไม่มีความสุข แต่ก็ทำลงจักรวาลประมาณ 20 กว่าปก แล้วก็แนะไปว่า ให้เปี๊ยก โปสเตอร์มาเขียนเถอะ เพราะสมัยนั้นภาพปกมันเป็นเทรนด์ของการเขียนสีโปสเตอร์”
          แต่แล้ววันหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจออกจากวงการนิยายภาพด้วยหลายเหตุผล ผันอาชีพไปเป็นบรรณาธิการนิตยสารหลายหัว ได้แก่ หนุ่มสแควร์ หนุ่ม 75 แปลก รายปักษ์, มหัศจรรย์ นานถึง 30 ปีที่เขาไม่จับพู่กันเลย แม้ว่า ‘โอม รัชเวทย์’ นักเขียนการ์ตูนและนักวาดภาพประกอบจะซื้อกระดาษ พู่กันมาให้
          จนวันที่ ‘สมบูรณ์ หอมเทียนทอง’ ศิลปินเจ้าของผลงานเชิงนามธรรม (Abstract Art) ซึ่งเป็นผู้ที่เคยอ่าน ‘สิงห์ดำ’ และหลงใหลคลั่งไคล้นิยายภาพเล่มนี้มาตั้งแต่เด็ก ชักชวนให้เขากลับมาจับพู่กันวาดภาพอีกครั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าและความหมายของการ์ตูน ราชในวัย 73 ปี จึงได้จัดแสดงงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมบูรณ์ โดยมีทั้งภาพที่สมบูรณ์และภาพร่างรวมแล้ว 90 กว่าภาพ ใช้เวลาวาดนานถึง 3 ปี และวางแผนว่าจะวาดต่อให้ครบ 120 ภาพ โดยไม่มี ‘เวลา’ เป็นตัวกำหนดเช่นในอดีต
          “ส่วนงานตรงนี้มีคนบอกว่าผมเขียนละเอียด ผมไม่ได้เขียนละเอียด ผมเขียนในสิ่งที่ผมอยากเขียน เมื่อก่อนผมไม่สามารถเขียนอย่างนี้ได้ เพราะถึงเวลาต้องส่ง แต่ตอนนี้ผมไม่ได้สนใจเรื่องเงินแล้ว ผมต้องเขียน 120 หน้า แต่ถึงเวลาต้องแสดงงานแล้ว ยังเขียนไม่จบ นี่ก็ 3 ปีแล้วนะ (หัวเราะ) ผมไม่เคยยอมรับตัวเองว่าผมเขียนได้มาตรฐาน ผมคิดว่าผมยังห่างไกล และน่าจะเขียนได้ดีกว่านี้ มันจะต้องดีกว่านี้ ถามว่า ภูมิใจมั้ย ผมว่าไม่ แต่ถามว่าดีมั้ย ผมว่าดี เพราะถ้าคุณทำงานอะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณไม่ชอบก็จะทนอยู่กับมันได้ไม่นาน หรือถ้าจะทนอยู่มันก็ไม่ได้ดี เรารู้ตัวเอง แต่ถ้าเราทำงานที่เราชอบ ก็จะทำแบบไม่รู้เวลา เพลิดเพลินไปเรื่อย มันทำให้เรามีความสุข และเป็นตัวอย่างให้นักเขียนการ์ตูนรุ่นน้องดูได้ว่าการทำงาน ถ้าทำให้ดีก็เลี้ยงตัวเองได้” ราช เลอสรวงพูดพร้อมกับหันไปมองภาพของตัวเองบนฝาผนัง




ขอขอบคุณ บทความ all Magazine :  ปีที่ 8  ฉบับที่  2  เดือน มิถุนายน 2556